Story From Taiwan / ตอนที่ 1: เยี่ยมเยือนสำนักพิมพ์ในไทเป


1.เยี่ยมเยือนสำนักพิมพ์ในไทเป

โดย นิวัต พุทธประสาท

เมื่อผมถูกถามว่าไต้หวันในจินตนาการของคุณเป็นไง มันเป็นคำถามที่ทำให้ผมนิ่งคิด ในยุคที่เรามีอินเตอร์เน็ต เรามีกูเกิล เรามีคอมพิวเตอร์ที่สามารถบอกเรื่องราวของเมืองนั้นๆ ได้ภายในไม่กี่วินาที แต่ผมใช้เวลาคิดอยู่สองสามวินาที แล้วตอบอย่างไม่ลังเลใจว่า ไต้หวัน หรือเมืองหลวงอย่างไทเปก็น่าจะเหมือนกรุงเทพฯ ไม่แตกต่างกัน คนถามบอกผมว่าทำไมถึงถามเช่นนั้นรู้ไหม ผมส่ายหน้า เขาบอกว่าคนไต้หวันเองก็คิดว่าเมืองไทยยังขี่ช้าง ไถนาด้วยควายเทียมเกวียน และเป็นชนบท บางทีผมอาจจะคิดเหมือนกับคนไต้หวันก็ได้ แต่ผมบอกเขาไปว่า ผมพอรู้จักไต้หวันบ้าง แม้จะไม่เคยไป แล้วอย่างน้อยครอบครัวของผมก็เคยคิดว่าจะกลับไปต่อสู้เคียงข้างเจียง ไคเชกในการปฏิวัติจีน แม้จะอกหักและต้องอยู่เมืองไทยและในที่สุดเราก็เป็นคนเชื้อสายจีนที่ถือกำเนิดในเมืองไทย แล้วที่สุดก็ไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับรากเหง้า หรือวัฒนธรรม ไปจนถึงภาษา อาจจะบอกได้ว่าเรามีชีวิตอยู่แบบไร้ราก จีนก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่อาจเป็นหนึ่ง ความเคว้งคว้างเช่นนี้สอนให้เรา หรือตัวผมแยกออกมาจากสิ่งที่เป็นอยู่ และการไปไต้หวันในครั้งนี้ บางทีผมก็ไม่รู้ว่าจะได้เจออะไรบ้าง

ไต้หวันสามวันแรกผมต้องไปทำงานในฐานะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ติดตามคุณสุชาดา นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และคุณสุลักษณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ เพื่อเชิญทางไต้หวันมาเป็น Guess of Honor ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 46 เดือนมีนาคม-เมษายน 2561 ตอนแรกก็คิดว่าคงเป็นงานพูดคุยอย่างทางการ แต่ทางไต้หวันจัดให้เราพบปะกับสำนักพิมพ์ชั้นนำหลายแห่งของเขา รวมถึงเอเจนซี และผู้ผลิตคอนเท็นต์อีบุ๊ค ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานของไต้หวันพอสมควร รวมถึงปัญหาวงการหนังสือของเขา ซึ่งน่าสนใจมาก

สิ่งที่สำคัญมากๆ ในวงการหนังสือของไต้หวันก็คือ การขยายรูปแบบของหนังสือให้กว้างขึ้น เมื่อทำหนังสือแล้วก็จะขยายไปสู่การ์ตูน ภาพยนตร์ ละคร หนังสือเสียง เกม สำนักพิมพ์ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับสื่อหนังสือเพียงอย่างเดียว การขายหนังสือของที่นี่แข่งขันกันดุเดือด การลดราคาหนังสือกลายเป็นปัญหา รัฐบาลของเขาพยายามอุดหนุนให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้ กระทรวงวัฒนธรรมมองเห็นอนาคตของการอ่าน เพราะการอ่านที่เข้มแข็งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แม้หนังสือที่ขายดีของเขาก็ไม่แตกต่างจากเมืองไทย คือหนังสือในแนวรัก โรแมนติก แต่พวกเขาก็สนุบสนุนให้เกิดการอ่านที่กว้างขวางมากๆ การเก็บสถิติจากผู้อ่าน และทางรัฐบาลมีงบประมาณที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อจะทำให้ตลาดหนังสือของไต้หวันกว้างไกลออกไป การรณรงค์ที่ทำได้จริง และวัฒนธรรมการอ่านได้รับการปลูกฝังมานาน จึงทำให้ไต้หวันเป็นประเทศที่เจริญรุดหน้าอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่มาก และหนุ่มสาวไม่นิยมที่จะมีลูก ทำให้ไต้หวันเผชิญหน้ากับอนาคตพอสมควร ซึ่งสวนทางกับเมืองไทยที่ไม่ได้มองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าสวัสดิการรัฐของไทยจึงตกต่ำ แล้วต้องแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการบริจาคผ่านคนมีชื่อเสียง โดยรัฐไม่คิดที่จะพัฒนาโครงสร้างทางสังคม

วันเดินทางไปไต้หวันคราวนี้เป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เราเก็บบู๊ธในงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 22 กว่าเราจะเก็บบู๊ธเสร็จก็ราวๆ สี่ทุ่มกว่า เรางดเลี้ยงอำลาตามประเพณีชาวบู๊ธ Alternative Writers ด้วยการกินข้าวหลังเสร็จสิ้นงานหนังสือเป็นครั้งแรก (เราจำไม่ได้ว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่) แต่เราทำติดต่อกันมานานเป็นสิบปีแล้ว คืนนั้นเรามุ่งตรงกลับบ้านที่สามพราน หาข้าวกินตอนเที่ยงคืน ถึงบ้านตีหนึ่งกว่า จัดกระเป๋า งีบหลับได้สักชั่วโมงก็ต้องออกเดินทางเช้ามืดมาสนามบิน โดยขับรถมาจอดที่จอดรถ (ตอนท้ายบทความเราจะเฉลยว่าเราเสียเงินค่าจอดรถเท่าไหร่ :P)

เราเดินทางไปถึงไต้หวันล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเนื่องจากเครื่องบินดีเลย์ก่อนจะบินขึ้น ด้วยปัญหาทางเทคนิคของเครื่องบิน ทำให้ต้องกลับมาจอดซ่อมที่หลุมของสายการบินเสียเวลาไปชั่วโมงเศษ ก่อนจะออกจากเมืองไทย เราใช้เวลาเดินทางราวสามชั่วโมงครึ่ง เมื่อมาถึง Taoyuan International Airport เราพบว่าแถวตรวจคนเข้าเมืองยาวเหยียดเป็นเขาวงกต และเสียเวลาที่ตรวจคนเข้าเมืองชั่วโมงกว่า ยังดีที่ทางสนามบินมีบริการ Wi-Fi ฟรี โดยไม่ต้องลงทะเบียนก็สามารถเข้าใช้ได้เลย สะดวกมาก แม้จะช้าก็ตาม เมื่อผ่านด่านต่างๆ รับกระเป๋า เรียบร้อย เราไปซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีหลายโปรโมชั่นให้เลือก และ 4G ของเขาไม่จำกัด แถมเร็วมากๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะหมดเน็ตเมื่อไหร่ (ประเทศพัฒนาจงเจริญ) ระหว่างทางจากสนามบินไปโรงแรม รถหนาแน่น และมาติดขัดเมื่อพบอุบัติเหตุ

เมื่อรถมาถึงโรงแรม Palais de Chine Hotel คุณหลู ชินเจิ้ง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งไทเป (President Of Association Of Taipei Publishers) และคณะมารอต้อนรับ เราแยกย้ายกันเข้าห้องพักไปเก็บกระเป๋า และลงมาร่วมประชุมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งไทเป เป็นการอัพเดตข้อมูลชองสองสมาคมและทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการ ก่อนจะพาเราไปเลี้ยงอาหารค่ำที่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ

เช้าวันรุ่งขึ้นเราเริ่มภารกิจแรกตั้งแต่สิบโมง สมาคมฯ ได้รับเชิญให้ไปดูงานที่สำนักพิมพ์ GAEA (เกอา) โดยการต้อนรับจากคุณโครี เช็น (Cori Chen) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ และคุณอลัน ลี (Alan Lee) บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์เกอาเป็นสำนักพิมพ์ชั้นนำของไต้หวัน ที่โดดเด่นทางด้านหนังสือวัยรุ่น ผลิตหนังสือในแนว light novels, comics และ fantasy นักเขียนที่มีชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ ได้แก่ หวงอี้, กิดเดนส์ หากสังเกตให้ดีคือ แม้เกอาจะเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ของไต้หวัน แต่เขามุ่งเน้นทำสำนักพิมพ์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำสายส่ง ร้านหนังสือ แต่เน้นขยายตลาดหนังสือไปทางอื่นๆ และนำเทคโนโลยีร่วมสมัยมาพรีเซ็นต์หนังสือ เช่นใช้ AR (Augmented Reality) ร่วมในการไปจัดนิทรรศการ สร้างความน่าสนใจให้กับตัวสำนักพิมพ์มากขึ้น

หลังจากนั้นช่วงบ่าย เข้าพบ คุณ Cheng Li-Chiun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งไต้หวัน เพื่อเรียนเชิญให้ไต้หวันเป็น Guest of Honor ในงาน หนังสือนานาชาติ 2018 อย่างเป็นทางการ ในการหารือครั้งนี้ ทำให้ผมได้ทราบถึงปัญหา และ การแก้ไขปัญหา ในเรื่องสิ่งพิมพ์ของไต้หวันพอสมควร เช่น ในไต้หวันการแข่งขันในตลาดหนังสือสูงมาก โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ครองตลาดและทำเรื่องราคาได้ดีกว่าสำนักพิมพ์เล็ก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สนับสนุนให้ร้านหนังสือเล็กๆ ได้มีโอกาส ทางไต้หวันมองเห็นความร่วมมือ และอยากแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการอ่าน รวมถึงวัฒนธรรม พูดให้เข้าใจง่าย เขามีโมเดลเดียวกับเกาหลีใต้ คือส่งออกวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ

ช่วงเย็น เข้าประชุมร่วมกับ คุณ Itzel Hsu จาก Gray Hawk Agency ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนด้านการขายลิขสิทธิ์ที่มีประสบการณ์ในการส่งออกงานของนักเขียนไต้หวัน สู่ตลาดสากล และเป็นตัวแทนในการจัดสัมมนาลิขสิทธิ์ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และ คุณเกรซ ชาง (Grace Chang) จาก Book From Taiwan หน่วยงานย่อยในแผนกมนุษยศาสตร์และสิ่งพิมพ์ ที่มีหน้าที่ในการคัดสรรผลงานของนักเขียนไต้หวันที่น่าสนใจในหลายประเภท ที่เกรย์ฮอร์ค ผมได้เรียนรู้มากมายตอนที่เขานำเสนอบริษัทของเขาผ่านการบรรยาย อย่างแรกก็คือ ชื่อเรื่องที่แปลเป็นอังกฤษจะต้องโดดเด่นในภาษาอังกฤษ แม้ว่าชื่อเรื่องจีนจะเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างที่สองนำเสนอภาพนักเขียนให้ดูดีเสมอ สามบทคัดย่อ หรือเรื่องตัวอย่างนั้นสำคัญเป็นอย่างมาก การทำแฮนด์บุ๊คทำให้การนำเสนอเป็นรูปธรรม แม้จะมีต้นทุนสูงก็ตาม ซึ่งต้องยอมรับว่าสำนักพิมพ์ไทยอย่างเรายังห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้มากๆ และไม่มีทุนจากรัฐบาลมาสนับสนุนยิ่งกลายเป็นว่าเราไม่สามารถเติบโตในตลาดวรรณกรรมโลกได้เลย ถ้าขาดแรงสนับสนุนที่ดี

ในวันสุดท้ายของแผนการเยือนไต้หวันของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เราได้ร่วมประชุมเรื่องคอนเซปต์การทำงานด้าน e-book กับ Sophie Pang (ซีอีโอ-ผู้ร่วมก่อตั้ง) และ Leslie Ho (ผู้จัดการฝ่ายการตลาด-ผู้ร่วมก่อตั้ง) ของ บริษัท Readmoo ผู้ให้บริการ e-book แถวหน้าของไต้หวัน ที่ขยาย platform ออกไปอีกหลากหลายช่องทาง ทั้ง reading community, i-news, self-publishing ฯลฯ ที่ Readmoo ยิ่งน่าสนใจ แม้เมืองไทยเรายังดันตลาดอีบุ๊คส์ไปได้ไม่ไกลนัก แต่วิธีการตลาดของ Readmoo สามารถนำมาดัดแปลงให้กับร้านหนังสือในเมืองไทยได้ ทั้งร้านบนดินหรือร้านออนไลน์ อย่างแรกก็คือการทำตลาด หาคอนเท็นต์มาสู่ผู้อ่าน และการเก็บข้อมูลลูกค้า ทั้งหมดนี้คือการทำธุรกิจที่ยืนอยู่บนรากฐานของการบริหารที่ดี ใช้องค์ความรู้มาบริหารมากกว่าใช้จินตนาการ หรือรอให้รัฐบาลมาช่วยเหลือ

สามวันที่รัฐบาลไต้หวันเป็นเจ้าภาพทำให้การเดินทางมาทำงานครั้งนี้นอกจากสนุกแล้ว ยังได้รับประสบการณ์นำกลับไปปรับปรุงองค์กรของตัวเองด้วย อาหารการกินอยู่ ทางรัฐบาลจัดเต็มจนไม่อยากออกทัวร์

โรงแรมที่เราเข้าพักคือ Palais de Chine Hotel โรงแรมที่ทางไต้หวันเลือกให้เราไปพัก เรียกว่างดงามยิ่งนัก ห้องพักกว้างขวาง ตกแต่งเหมือนอยู่ในถ้ำ ทำให้การพักผ่อนเต็มไปด้วยความสบาย ส่วนอาหารเช้าก็ยอดเยี่ยมมาก มีอาหารให้เลือกนับร้อยชนิด เรียกว่าเลือกกินได้อย่างหลากหลาย ทั้งอาหารฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น

ส่วนอาหารมื้อกลางวันและเย็นที่ทางไต้หวันรับรองเรา ต้องบอกได้ว่า การมาไทเป อาหารคือทูตทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ เราได้ชิมเสี่ยวหลงเปาที่เลิศรส ปูอบข้าวเหนียว ไก่แช่เหล้า ไก่นึ่ง ข้าวผัด ปลานึ่งซีอิ๊ว เป่าฮื้อเจี๋ยนน้ำมันหอย สามชั้นตุ๋นกินกับหมั่นโถว ผัดผัก เนื้อย่าง และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้การพบปะบุคคลสำคัญวงการหนังสือไต้หวันสมบูรณ์

ขอบคุณ: เบียร์ ผู้ประสานงานและเป็นล่ามที่ยอดเยี่ยม, นก ประสานงาน, ปอ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ และหมูถ่ายภาพภารกิจ

ตอนที่ 2

ใส่ความเห็น

Create a website or blog at WordPress.com

Up ↑